พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558
มาตรา 3 กำหนดว่า...
ผู้ทวงถามหนี้ หมายความว่า เจ้าหนี้เป็นผู้ให้สินเชื่อ ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้จัดให้มีการเล่นการพนันเป็นปกติธุระตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน และเจ้าหนี้อื่นซึ่งมีสิทธิรับชำระหนี้อันเกิดจากการกระทำที่เป็นทางการค้าปกติหรือเป็นปกติธุระของเจ้าหนี้ ทั้งนี้ไม่ว่าหนี้ดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึง ผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ดังกล่าว ผู้รับมอบอำนาจช่วงในการทวงถามหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ และผู้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ด้วย
ผู้ให้สินเชื่อ หมายความว่า
(1) บุคคลซึ่งให้สินเชื่อเป็นทางการค้าปกติ หรือ
(2) บุคคบซึ่งรับซื้อหรือรับโอนสินเชื่อต่อไปทุกทอด
สินเชื่อ หมายความว่า สินเชื่อที่ให้แก่บุคคลธรรมดาโดยการให้กู้ยืมเงิน การให้บริการบัตรเครดิต การให้เช่าซื้อ การให้เช่าแบบลิสซิ่ง และสินเชื่อในรูปแบบอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน
ลูกหนี้ หมายความว่า ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา และให้หมายความรวมถึงผู้ค้ำประกัน ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาด้วย
ธุรกิจทวงถามหนี้ หมายความว่า การรับจ้างทวงถามหนี้ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมเป็นปกติธุระ แต่ไม่รวมถึงการทวงถามหนี้ของทนายความซึ่งกระทำแทนลูกความของตน
ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้ หมายความว่า ที่อยู่อาศัยหรือสถานที่ทำงานของลูกหนี้ และให้หมายความรวมถึงหมายเลขโทรศัพท์และโทรสาร และสถานที่ติดต่อโดยจดหมายอิเล็กทรอนิกส์โดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือโดยสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น ที่สามารถติดต่อกับลูกหนี้ได้ด้วย
คณะกรรมการ หมายความว่า คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้
นายทะเบียน หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งให้เป็นผู้มีหน้าที่รับจดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้
พนักงานเจ้าหน้าที่ หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งตามการเสนอแนะของคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
รัฐมนตรี หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 4 กำหนดให้... รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของตน และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
หมวด 1 การทวงถามหนี้
-
หมวด 1
การทวงถามหนี้
____________________มาตรา 5 บุคคลใดจะประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต่อนายทะเบียน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
บุคคลซึ่งจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ตามวรรคหนึ่งแล้ว ต้องประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา 6 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้เป็นทนายความหรือสำนักงานทนายความให้คณะกรรมการสภาทนายความตามกฎหมายว่าด้วยทนายความทำหน้าที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนโดยต้องปฏิบัติตามกฎหมายกระทรวงและประกาศตามมาตรา 5
ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้เป็นทนายความหรือสำนักงานทนายความ ให้คณะกรรมการสภาทนายความตามกฎหมายว่าด้วยทนายความมีอำนาจสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนตามมาตรา 37 ที่เป็นอำนาจของคณะกรรมการตามมาตรา 27
ให้สภานายกพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยทนายความมีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งไม่รับจดทะเบียนที่เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามมาตรา 31 หรือคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนที่เป็นอำนาจของคณะกรรมการตามมาตรา 38 คำวินิจฉัยของสภานายกพิเศษให้เป็นที่สุด ทั้งนี้ ให้นำระยะเวลาในการอุทธรณ์และการวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา 31 และมาตรา 38 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ให้คณะกรรมการสภาทนายความมีอำนาจออกข้อบังคับในส่วนที่เกี่ยวข้องได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ข้อบังคับนั้นเมื่อได้รับความเห็นชอบจากสภานายกพิเศษตามกระบวนการในกฎหมายว่าด้วยทนายความและได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
มาตรา 7 ให้คณะกรรมการสภาทนายความและสภานายกพิเศษรายงานการดำเนินการของตนตามมาตรา 6 ให้คณะกรรมการเพื่อทราบเป็นประจำทุกสามเดือนนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ
ในกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นว่าการดำเนินการของคณะกรรมการสภาทนายความหรือสภานายกพิเศษตามมาตรา 6 ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการแจ้งให้คณะกรรมการสภาทนายความหรือสภานายกพิเศษเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 8 ห้ามผู้ทวงถามหนี้ติดต่อกับบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ลูกหนี้เพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่บุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการดังกล่าว
การติดต่อกับบุคคลอื่นนอกจากบุคคลาตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้เพื่อวัติการทวงถามหนี้เท่านั้น โดยผู้ทวงถามหนี้ต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) แจ้งให้ทราบชื่อตัว ชื่อสกุล และแสดงเจตนาว่าต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทรวงถามหนี้
(2) ห้ามแจ้งถึงความเป็นหนี้ของลูกหนี้ เว้นแต่ในกรณีที่บุคคลอื่นนั้นเป็นสามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของลูกหนี้ และบุคคลอื่นดังกล่าวได้สอบถามผู้ทวงถามหนี้ถึงสาเหตุของการติดต่อให้ผู้ทวงถามหนี้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ได้เท่าที่จำเป็นและตามความเหมาะสม
(3) ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในหนังสือ หรือในสื่ออื่นใดที่ใช้ในการติดต่อสอบถาม ซึ่งทำให้เข้าใจว่าเป็นการติดต่อเพื่อทวงถามหนี้ของลูกหนี้
(4) ห้ามติดต่อหรือแสดงตนที่ทำให้เข้าใจผิดเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้
มาตรา 9 การทวงถามหนี้ ให้ผู้ทวงถามหนี้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) สถานที่ติดต่อ ในกรณีที่ติดต่อโดยบุคคลหรือทางไปรษณีย์ ให้ติดต่อตามสถานที่ที่ลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้แจ้งให้เป็นสถานที่ติดต่อ ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวไม่ได้แจ้งไว้ล่วงหน้าหรือสถานที่ที่ได้แจ้งไว้ไม่สามารถติดต่อได้ โดยผู้ทวงถามหนี้ได้พยายามติดต่อตามสมควรแล้ว ให้ติดต่อตามภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่ทำงานของบุคคลดังกล่าว หรือสถานที่อื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
(2) เวลาในการติดต่อ การติดต่อโดยบุคคล โทรศัพท์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ให้ติดต่อได้ตั้งแต่เวลา 08.00 นาฬิกา ถึงเวลา 20.00 นาฬิกา และในวันหยุดราชการ เวลา 08.00 นาฬิกา ถึงเวลา 18.00 นาฬิกา หากไม่สามารถติดต่อตามเวลาดังกล่าวได้หรือช่วงเวลาดังกล่าวไม่เหมาะสม ให้ติดต่อได้ในช่วงเวลาอื่นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
(3) จำนวนครั้งที่ติดต่อ ในช่วงเวลาตาม (2) ให้ติดต่อตามจำนวนครั้งที่เหมาะสมและคณะกรรมการอาจประกาศกำหนดจำนวนคร้ังด้วยก็ได้
(4) ในกรณีที่เป็นผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ ผู้รับมอบอำนาจช่วงในการทวงถามหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ หรือผู้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ให้ผู้ทวงถามหนี้แจ้งให้ทราบถึงชื่อตัวและชื่อสกุล หรือชื่อหน่วยงานของตนและของเจ้าหนี้ และจำนวนหนี้ และถ้าผู้รับมอบอำนาจดังกล่าวทวงถามหนี้ต่อหน้า ให้แสดงหลักฐานการมอบอำนาจให้ทวงถามหนี้ด้วย
มาตรา 10 ในกรณีที่ผู้ทวงถามหนี้ขอรับชำระหนี้ ผู้ทวงถามหนี้ต้องแสดงหลักฐานการรับมอบอำนาจให้รับชำระหนี้จากเจ้าหนี้ต่อลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ด้วยและเมื่อลูกหนี้ได้ชำระหนี้แก่ผู้ทวงถามหนี้แล้ว ให้ผู้ทวงถามหนี้ออกหลักฐานการชำระหนี้แก่ลูกหนี้ด้วย
หากลูกหนี้ได้ชำระหนี้แก่ผู้ทวงถามหนี้โดยสุจริต ให้ถือว่าเป็นการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้โดยชอบ ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ทวงถามหนี้จะได้รับมอบอำนาจให้รับชำระหนี้หรือไม่ก็ตาม
มาตรา 11 ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะดังต่อไปนี้
(1) การข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น
(2) การใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น
(3) การแจ้งหรือเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ เว้นแต่เป็นกรณีตามมาตรา 8 วรรคสอง (2)
(4) การติดต่อลูกหนี้โดยไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เว้นแต่กรณีการบอกกล่าวบังคับจำนองด้วยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์ ซึ่งเจ้าหนี้ไม่สามารถติดต่อลูกหนี้โดยวิธีการอื่น หรือกรณีอื่นใดตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
(5) การใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้ไม่ได้สื่อให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้
(6) การทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
ความใน (5) มิให้นำมาใช้บังคับกับการทวงถามหนี้เป็นหนังสือเพื่อจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล
มาตรา 12 ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จ หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดดังต่อไปนี้
(1) การแสดงหรือการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือเครื่องแบบที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ
(2) การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าการทวงถามหนี้เป็นการกระทำโดยทนายความ สำนักงานทนายความ หรือสำนักงานกฎหมาย
(3) การแสดงหรือข้อความที่ทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี หรือจะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน
(4) การติดต่อหรือการแสดงตนให้เชื่อว่าผู้ทวงถามหนี้ดำเนินการให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิตหรือรับจ้างบริษัทข้อมูลเครดิต
มาตรา 13 ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมดังต่อไปนี้
(1) การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ เกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
(2) การเสนอหรือจูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็คทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้
มาตรา 14 ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการดังต่อไปนี้
(1) ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้
(2) ทวงถามหนี้หรือสนับสนุนการทวงถามหนี้ซึ่งมิใช่ของตน เว้นแต่ในกรณีที่เป็นหนี้ของสามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของตน หรือในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นมีอำนาจกระทำได้ตามกฎหมาย
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นในกระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรมราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น หรือส่วนงานอื่นของรัฐ
หมวด 2 การกำกับดูแลและตรวจสอบ
-
หมวด 2
การกำกับดูแลและตรวจสอบ
____________________________มาตรา 15 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้" ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง ปลัดกระทรวงการคลังเป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายกสภาทนายความ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งจำนวนไม่เกินห้าคนเป็นกรรมการ
ให้อธิบดีกรมการปกครองเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้คณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการของกรมการปกครองสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง ต้องมีความรู้ความเชื่ยวชาญ หรือประสบการณ์ในด้านการเงินการธนาคาร ด้านกฎหมาย หรือด้านการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างน้อยด้านละหนึ่งคน โดยมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปีและอาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้ แต่จะแต่งตั้งให้อยู่ในตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระมิได้ ทั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองผู้บริโภคนั้น ให้แต่งตั้งจากผู้แทนองค์กรพัฒนาภาคเอกชนในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค
ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
มาตรา 16 ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการทวงถามหนี้ของผู้ทวงถามหนี้ อำนาจหน้าที่ดังกล่าวให้รวมถึง
(1) ออกประกาศหรือคำสั่งเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
(2) ออกข้อบังคับกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนของคณะกรรมการตามมาตรา 27 และกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าว
(3) พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งให้ชำระค่าปรับทางปกครองและคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ตามมาตรา 38
(4) กำหนดหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบและระยะเวลาการชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบตามมาตรา 45
(5) เสนอแนะหรือให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ตลอดจนเสนอแนะคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการในกรณีมีปัญหาหรืออุปสรรคเกี่ยวกับการประสานงานในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ คณะกรรมการตามมาตรา 27 คณะอนุกรรมการตามมาตรา 21 มาตรา 22 และมาตรา 28 (3) คณะกรรมการเปรียบเทียบ กรมการปกครอง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ที่ทำการปกครองจังหวัด และกองบัญชาการตำรวจนครบาล
(6) เสนอแนะคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการในการคุ้มครองหรือช่วยเหลือลูกหนี้ในด้านอื่น
(7) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่มีกฎหมายกำหนดหรือตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย
ข้อบังคับและประกาศของคณะกรรมการนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้บังคับได้
มาตรา 17 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีสัญชาติไทยและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(1) เป็นบุคคลล้มละลาย คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(2) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
(3) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(4) เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกสั่งให้พักราชการหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน
(5) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะกระทำผิดวินัย หรือเคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้อออกจากหน่วยงานของเอกชนเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
(6) เป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการของผู้ให้สินเชื่อ หรือเป็นผู้ให้สินเชื่อหรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
มาตรา 18 นอกจากการพ้นตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 15 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ออกเพราะบกพร่องหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ
(4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 17
มาตรา 19 ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้คณะกรรมการประกอบด้วยบกรรมการทั้งหมดที่เหลืออยู่จนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นตำแหน่งก่อนวาระ เว้นแต่วาระของกรรมการจะเหลือน้อยกว่าเก้าสิบวัน และให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน
ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นนั้น อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
มาตรา 20 การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้รองประธานกรรมการทำหน้าที่แทนตามลำดับ ถ้ารองประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมแทน
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา 21 คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้
การประชุมคณะอนุกรรมการ ให้นำมาตรา ๒๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 22 ในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตามมาตรา 21 ให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอย่างน้อยคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการเกี่ยวกับการกำกับดูแลการทวงถามหนี้ของผู้ให้สินเชื่อซึ่งเป็นนิติบุคคล ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการดังกล่าวอย่างน้อยต้องประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้แทนสมาคมธนาคารไทยเป็นอนุกรรมการ โดยมีข้าราชการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ และเป็นผู้ช่วยเลขานุการจำนวนสองคน
มาตรา 23 ในกรณีที่ลูกหนี้หรือบุคคลอื่นได้รับการปฏิบัติจากผู้ทวงถามหนี้ที่เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัตินี้ ให้ลูกหนี้หรือบุคคลอื่นนั้นมีสิทธิร้องเรียนต่อคณะกรรมการตามมาตรา 27 เพื่อวินิจฉัยสั่งการได้
การร้องเรียนต่อคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา 24 ในการดำเนินงานตามพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการ คณะกรรมการตามมาตรา 27 และคณะอนุกรรมการตามมาตรา 21 มาตรา 22 และมาตรา 28 (3) มีอำนาจสั่งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดมาให้ข้อเท็จจริง หรือส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้มาเพื่อประกอบการพิจารณาได้
มาตรา 25 ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กรมการปกครองรับผิดชอบในงานธุรการของคณะกรรมการและปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการได้มอบหมาย
ให้กรมการปกครองมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทวงถามหนี้เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการตามมาตรา 27
(2) ติดตามสอดส่องพฤติการณ์ของผู้ทวงถามหนี้หรือกำกับดูแลการปฏิบัติของผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้
(3) ประสานกับหน่วยงานของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลหรือตรวจสอบผู้ทวงถามหนี้หรือบุคคลอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้
(4) รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ และอบรมวิธีการทวงถามหนี้ที่ถูกต้องและเหมาะสม
(5) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการได้มอบหมาย
มาตรา 26 ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังรับผิดชอบในงานธุรการของคณะอนุกรรมการตามมาตรา 22 และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะอนุกรรมการดังกล่าวได้มอบหมาย
ให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังมีอำนาจหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทวงถามหนี้เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการตามมาตรา 27 รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการทวงถามหนี้ของผู้ให้สินเชื่อซึ่งเป็นนิติบุคคลดังต่อไปนี้
(1) ติดตามสอดส่องพฤติการณ์ของผู้ทวงถามหนี้หรือกำกับดูแลการปฏิบัติของผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้
(2) ประสานกับหน่วยงานของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลหรือตรวจสอบผู้ทวงถามหนี้หรือบุคคลอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้
(3) รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ และอบรมวิธีการทวงถามหนี้ที่ถูกต้องและเหมาะสม
(4) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการตามวรรคหนึ่งได้มอบหมาย
มาตรา 27 ในจังหวัดหนึ่ง ให้มีคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ อัยการจังหวัด ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกในพื้นที่ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด คลังจังหวัด ประธานสภาทนายความจังหวัด เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และผู้แทนองค์กรพัฒนาภาคเอกชนในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งเป็นกรรมการ
ให้ปลัดจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดแต่งตั้งข้าราชการของที่ทำการปกครองจังหวัดสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ในกรุงเทพมหานคร ให้มีคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานครประกอบด้วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกรมการปกครอง ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนมณฑลทหารบกที่ 11 ผู้แทนสภาทนายความ และผู้แทนองค์กรพัฒนาภาคเอกชนในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาลแต่งตั้งเป็นกรรมการ
ให้ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล เป็นกรรมการและเลขานุการและให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลแต่งตั้งข้าราชการตำรวจของกองบัญชาการตำรวจนครบาลสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
มาตรา 28 ให้คณะกรรมการตามมาตรา 27 มีอำนาจหน้าที่ภายในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ ดังต่อไปนี้
(1) พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนตามพระราชบัญญัตินี้
(2) สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนของผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ตามมาตรา 37
(3) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการตามมาตรา 27 มอบหมาย
(4) รายงานการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการทุกสามเดือน
(5) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
การประชุมคณะกรรมการตามมาตรา 27 และคณะอนุกรรมการตามวรรคหนึ่ง (3) ให้นำมาตรา 20 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 29 ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ที่ทำการปกครองจังหวัดและกองบัญชาการตำรวจนครบาล รับผิดชอบในงานธุรการของคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดและคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานครตามลำดับ และให้มีอำนาจหน้าที่ภายในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ ดังต่อไปนี้
(1) เป็นสำนักงานทะเบียนรับจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้
(2) รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทวงถามหนี้เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดหรือคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานครแล้วแต่กรณี
(3) ติดตามสอดส่องพฤติการณ์ของผู้ทวงถามหนี้หรือกำกับดูแลการปฏิบัติของผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้
(4) ประสานกับหน่วยงานของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลหรือตรวจสอบผู้ทวงถามหนี้หรือบุคคลอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้
(5) รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ และอบรมวิธีการทวงถามหนี้ที่ถูกต้องและเหมาะสม
(6) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการ และคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดหรือคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานครแล้วแต่กรณี มอบหมาย
มาตรา 30 เพื่อประโยชน์ในการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทวงถามหนี้ ให้ที่ว่าการอำเภอและสถานีตำรวจเป็นสถานที่รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทวงถามหนี้ได้ด้วย รวมทั้งให้หัวหน้าหน่วยงานดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริงและเอกสารเพื่อส่งเรื่องต่อไปยังที่ทำการปกครองจังหวัดหรือกองบัญชาการตำ รวจนครบาล แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา 31 ในกรณีที่นายทะเบียนมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ตามมาตรา 5 ให้ผู้ที่ยื่นขอจดทะเบียนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งไม่รับจดทะเบียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันได้รับอุทธรณ์
คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้เป็นที่สุด
มาตรา 32 ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้ทวงถามหนี้หรือกรรมการ ผู้จัดการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือพนักงานของผู้ทวงถามหนี้ ในกรณีผู้ทวงถามหนี้เป็นนิติบุคคล มาให้ถ้อยคำ แสดงข้อมูลหรือส่งสมุดบัญชี เอกสาร ดวงตรา หรือสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับกิจการสินทรัพย์ และหนี้สินของผู้ทวงถามหนี้และบุคคลดังกล่าวข้างต้น
มาตรา 33 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกครั้ง
บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนด
หมวด 3 บทกำหนดโทษ ส่วนที่ 1 โทษทางปกครอง
-
หมวด 3
บทกำหนดโทษ
_________________________________________
ส่วนที่ 1
โทษทางปกครอง
_________________________________________
มาตรา 34 ในกรณีที่ปรากฏแก่คณะกรรมการตามมาตรา 27 ว่าผู้ทวงถามหนี้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 8 วรรคสอง (1) หรือ (4) มาตรา 9 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง มาตรา 11 (6) หรือมาตรา 13 (1) ให้คณะกรรมการตามมาตรา 27 มีอำนาจสั่งให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือปฏิบัติให้ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนด
หากผู้ทวงถามหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการตามมาตรา 27 พิจารณามีคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองไม่เกินหนึ่งแสนบาท
มาตรา 35 ในการพิจารณาออกคำสั่งลงโทษปรับทางปกครอง ให้คณะกรรมการตามมาตรา 27 คำนึงถึงความร้ายแรงแห่งพฤติกรรมที่กระทำผิด
ในกรณีที่ผู้ถูกลงโทษปรับทางปกครองไม่ยอมชำระค่าปรับทางปกครอง ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการบังคับทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลม และในกรณีที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ดำเนินการบังคับตามคำสั่ง หรือมีแต่ไม่สามารถดำเนินการบังคับทางปกครองได้ให้คณะกรรมการตามมาตรา 27 มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อบังคับชำระค่าปรับ ในการนี้ถ้าศาลปกครองเห็นว่าคำสั่งให้ชำระค่าปรับนั้นชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาและบังคับให้มีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินขายทอดตลาดเพื่อชำระค่าปรับได้
มาตรา 36 ในกรณีที่ผู้ทวงถามหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลต้องรับโทษปรับทางปกครอง ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือไม่สั่งการ หรือการกระทำการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำของกรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการแทนนิติบุคคลนั้น บุคคลดังกล่าวต้องรับโทษปรับทางปกครองตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย
มาตรา 37 ให้คณะกรรมการตามมาตรา 27 มีอำนาจสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนของผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ได้ เมื่อปรากฏว่าผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้
(1) เคยถูกลงโทษปรับทางปกครองและถูกลงโทษซ้ำอีกจากการกระทำความผิดอย่างเดียวกัน
(2) กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติที่มีโทษทางอาญาตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 38 ผู้ทวงถามหนี้มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งให้ชำระค่าปรับทางปกครองตามมาตรา 34 วรรคสองหรือผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนตามมาตรา 37 ต่อคณะกรรมการได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
คณะกรรมการต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันได้รับอุทธรณ์
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
หมวด 3 บทกำหนดโทษ ส่วนที่ 2 โทษอาญา
-
ส่วนที่ 2
โทษอาญา
______________________
มาตรา 39 บุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 5 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง มาตรา 8 วรรคหนึ่ง มาตรา 8 วรรคสอง (2) หรือ (3) มาตรา 11 (2) (3) (4) หรือ (5) หรือมาตรา 13 (2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 40 บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา 12 (2) (3) หรือ (4) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 41 บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา 11 (1) หรือมาตรา 12 (1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 42 เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 14 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 43 บุคคลใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามมาตรา 24 หรือขัดขวางหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามมาตรา 32 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 44 ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษอาญาตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือไม่สั่งการ หรือการกระทำการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำของกรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการแทนนิติบุคคลนั้น บุคคลดังกล่าวต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย
มาตรา 45 บรรดาความผิดในส่วนที่ 2 นี้ ยกเว้นมาตรา 41 และมาตรา 42 ให้คณะกรรมการเปรียบเทียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งมีอำนาจเปรียบเทียบได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด
คณะกรรมการเปรียบเทียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้มีจำนวนสามคนซึ่งคนหนึ่งต้องเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเมื่อคณะกรรมการเปรียบเทียบได้ทำการเปรียบเทียบกรณีใด และผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีนั้นเป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และให้คณะกรรมการเปรียบเทียบแจ้งให้คณะกรรมการทราบโดยเร็ว
บทเฉพาะกาล
-
บทเฉพาะกาล
____________________
มาตรา 46 บุคคลใดประกอบธุรกิจทวงถามหนี้หรือกิจการอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันตามพระราชบัญญัตินี้อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากประสงค์จะประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต่อไป ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง หรือตามมาตรา 6 วรรคหนึ่ง แล้วแต่กรณีภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ในระหว่างการยื่นคำขอจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ให้บุคคลนั้นประกอบธุรกิจดังกล่าวต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งการไม่รับจดทะเบียนจากนายทะเบียน
มาตรา 47 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ในวาระเริ่มแรกที่ยังไม่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 15 วรรคหนึ่งให้คณะกรรมการประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง ปลัดกระทรวงการคลังเป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และนายกสภาทนายความ เป็นกรรมการ
ให้อธิบดีกรมการปกครองเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้อธิบดีกรมการปกครองแต่งตั้งข้าราชการของกรมการปกครองสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ทั้งนี้ เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อน