การตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ ประชาชนต้องมีส่วนร่วม
เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๓.๓๐ น. ที่ ศาลปกครองนครราชสีมามีนัดฟังคำพิพากษาที่ผู้บริโภคร้องเรียนคัดค้านการตั้ง เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ในชุมชน ซึ่งผู้บริโภคได้ร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการแก้ไข ปัญหาแต่ไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการใดๆ ทางผู้บริโภคจึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองนครราชสีมา ซึ่งมีผู้ร้องเรียนคัดค้านการตั้งเสาในชุมชนจากจังหวัดศรีสะเกษ นครราชสีมาและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่นเดินทางมาให้กำลังใจกับกรณีดังกล่าว
นายวุฒิ ตั้งเสวตชัย ผู้ร้องเรียนคัดค้านการตั้งเสาในชุมชนกล่าวว่าตนเองทราบว่าข้างบ้านจะมีการ ตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ในเขตพื้นที่ตำบลหนองบัวศาลา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา จึงได้ปรึกษาหารือกับคนในชุมชนเพื่อร้องเรียนคัดค้านไปที่ อบต.หนองบัวศาลา, บริษัทผู้ประกอบการ, กสทช. แต่ไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา จึงตัดสินใจฟ้องหน่วยงานต่อศาลปกครองนครราชสีมาเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ เพื่อให้ชะลอการก่อสร้างเสาและรื้อถอนเสาออกจากชุมชนเนื่องจากไม่มีการรับ ฟังความเห็นของคนในชุมชน ศาลมีการไต่สวนเรื่อยมาจนวันนี้ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาซึ่งพิพากษายกฟ้อง ผู้ร้องเรียนฟ้อง กสทช. ในการให้อนุญาตตั้งเสาโทรคมนาคมโดยไม่ทำความเข้าใจกับประชาชน ฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลการให้อนุญาตก่อสร้างอาคาร และฟ้องบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ศาลได้ยกฟ้องทั้งหมด เนื่องจาก สำนักงาน กสทช. ยังไม่ได้ออกใบอนุญาตตั้งเสาโทรคมนาคม และการให้ใบอนุญาตขององค์การบริหารส่วนตำบล และบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ได้ดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมาย ข้ออ้างของผู้ฟ้องจึงไม่สามารถรับฟังได้ ศาลพิพากษายกฟ้อง ทางผู้ฟ้องขอใช้สิทธิในการอุทธรณ์ต่อไป
ทางด้านนายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสานกล่าวว่า การร้องเรียนกรณีปัญหาการตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ยังคงเป็นปัญหาเรื่องร้อง เรียนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้ร้องเรียนได้รับความเสียหายจากบ้านพักอาศัยแตกร้าว ฟ้าผ่า และความกังวลเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพจากคลื่น ซึ่งคุณวุฒ ตั้งเศวตชัย ก็เป็นอีกกรณีตัวอย่างหนึ่งที่ร้องเรียนไปหลายหน่วยงานเพื่อให้มีการแก้ไข ปัญหา ที่ผ่านมาองค์กรผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนและเสนอวิธีการจัดการปัญหา ต่อผู้ร้องเรียน เช่นการเจรจากับผู้ประกอบการ การร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ( กสทช.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อยกระดับปัญหาจากเรื่องร้องเรียนไปสู่การปรับปรุงมาตรฐานและแนวปฏิบัติ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงมีข้อเสนอ ดังนี้
ผู้ประกอบการต้องจัดรับฟังความเห็นกับชุมชนก่อนที่จะทำสัญญาเช่าที่และขอ ใบ อนุญาตก่อสร้างอาคารจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและการขอใบอนุญาตโทรคมนาคม จาก กสทช.
ให้กระบวนการขออนุญาตก่อสร้างอาคารจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและการขอ อนุญาตตั้งเสาโทรคมนาคมให้เป็นเรื่องเดียวกัน โดยใช้หลักฐานการรับฟังความเห็นจากชุมชนประกอบด้วย
หลักฐานประกอบการขอรับใบอนุญาตกับ กสทช. ควรมีระเบียบวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน ประกอบด้วย รายงานการประชุมรับฟังความเห็น ข้อมูลที่ใช้ทำความเข้าใจ ภาพถ่ายการประชุม รายชื่อผู้เข้าร่วม เป็นต้น
ให้ กสทช. ประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับ อปท. ในเรื่องการให้ใบอนุญาตการตั้งเสาส่งสัญญาณ เพื่อให้ อปท. ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้ กสทช. ทบทวนค่าความเข้มของคลื่นสนามแม่เหล็ก หากมีเรื่องร้องเรียนคัดค้านการตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ ให้ กสทช.ชะลอการออกใบอนุญาตทันที
ให้สำนักงาน กสทช. หยุดการดำเนินการให้ข้อมูลที่อาจจะเป็นเท็จต่อผู้บริโภคทุกช่องทาง เช่น การติดป้ายให้ข้อมูล, สปอร์ตโฆษณาตามสื่อวิทยุ, การจัดเวทีให้ความรู้และการแจกแผ่นพับ เป็นต้นเพราะเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์จากคลื่นที่แผ่จากสถานีก็ยัง ไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่าคลื่นจากสถานีมีความปลอดภัยหรือมีอันตรายต่อ สุขภาพหรือไม่ ซึ่งมีข้อแนะนำให้มีการใช้โทรศัพท์มือถืออย่างพอเหมาะเพื่อป้องกันผลกระทบ ต่อสุขภาพ แต่คลื่นความถี่จากเสาส่งสัญญาณมีความแตกต่างกันเนื่องจากเป็นเรื่องที่ไม่ สามารถหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นการดำเนินการใดๆเกี่ยวกับการตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ จึงควรพิจารณาโดยคำนึงถึงผลกระทบของคลื่นจากเสาส่งสัญญาณโดยใช้หลักป้องกัน ไว้ก่อน เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะตามมาในอนาคต