คอบช. เผยทีวีดิจิทัลโฆษณาเกินเวลา แนะกสทช.คุมเข้ม
คอบช.ร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภค เผยพบโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเครื่องสำอางผิดกฎหมายจำนวนมาก พบหลายช่องโฆษณาเกินเวลา พร้อมจี้กสทช.กำหนดโฆษณาทั้งในและนอกรายการไม่เกิน 12.30 นาที
วันนี้ (22 ต.ค. 58) คณะอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ด้านสื่อและโทรคมนาคม (คอบช.ด้านสื่อและโทรคมนาคม) ร่วมกับ เครือข่ายผู้บริโภค แถลงข่าว “ผลการศึกษาโฆษณาผิดกฎหมายทางสื่อโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล” ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จากการศึกษาพบโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอางผิดกฎหมายจำนวนมาก และหลายช่องมีโฆษณาเกินเวลา
นางสาวสถาพร อารักษ์วทนะ เครือข่ายผู้บริโภค เผยผลการเฝ้าระวังโฆษณาในทีวีดิจิทัลเมื่อเดือนสิงหาคม 2558 จำนวน 6 ช่อง คือ 3HD, 7HD, 8, ONE HD, MONO 29 และWorkpoint พบว่า ทุกช่อง มีการโฆษณาเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด คือ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรศัพท์ พ.ศ. 2551 ระบุไว้ว่า การโฆษณาต้องไม่เกินชั่วโมงละ 12.30 นาที
นางสาวสถาพร กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังพบการโฆษณาที่มีเนื้อหาเกินจริง อาทิ โฆษณาเครื่องสำอางต่างๆ ที่มักใช้คำว่า ผิวดูสว่างใสทันที, ผิวเนียนนุ่มทันที เป็นต้น ซึ่งเครื่องสำอางเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีจุดประสงค์เพื่อใช้ทำความสะอาดและเพิ่มความสวยงามเท่านั้น ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของร่างกาย
“การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ในสาระสําคัญเกี่ยวกับเครื่องสําอาง มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 22 ประกอบ มาตรา 47 และ มาตรา 50 มี บทลงโทษจําคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ส่วนสื่อโฆษณาหรือ ผู้ประกอบธุรกิจโฆษณา จะมีบทลงโทษจําคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท ประกอบกับ พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ที่มีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2558 หมวดโฆษณา มาตรา 41 และ มาตรา 42 ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 84 คือ ผู้ไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นางสาวสถาพรกล่าว
นอกจากนี้ยังพบว่า มีการโฆษณาที่นำเสนอรายงานผลวิจัยต่างๆ ที่กล่าวอ้างข้อมูลที่ไม่ทันสมัย ใช้งานศึกษาเมื่อ 8 – 10 ปีที่แล้ว หากผู้บริโภคซื้อมาใช้อาจทำให้เสียเงินฟรี และเสี่ยงต่อการได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีการลักลอบใส่สารห้ามใช้ที่เป็นอันตราย
ด้าน นางสาวชลดา บุญเกษม คอบช.ด้านสื่อและโทรคมนาคม กล่าวว่า ตามกฎหมายการพนันไม่ได้ห้ามการชิงโชค แต่การชิงโชคใดๆ ต้องมีการขออนุญาต ซึ่งการโฆษณาชิงโชคใดหากมีการเรียกเก็บเงินค่าบริการข้อความ SMS ต้องเป็นการจ่ายตามแพคเกจของเจ้าของมือถือ โดยช่องต้องไม่เรียกเก็บเพิ่ม ซึ่งพบว่ามีโฆษณาที่มีการเรียกเก็บค่าบริการ SMS เช่น เก็บค่าบริการ SMS 3 บาททุกเครือข่าย
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษายังพบว่า มีการออกอากาศรายการไม่ตรงตามผังรายการ ซึ่งถือว่าเป็นความผิด เพราะตามกฎหมายช่องจะต้องส่งผังรายการและต้องออกอากาศตามผังรายการเท่านั้น หากมีการเปลี่ยนแปลงจะต้องแจ้งล่วงหน้า รวมถึงการโฆษณาผลิตภัณฑ์พวกสารเคมีที่ใช้ในครัวเรือน เช่น โลชั่นทากันยุง น้ำยาล้างห้องน้ำ แต่ใช้ภาพสื่อว่าดมแล้วมีกลิ่นหอม เช่นนี้ เห็นว่าอาจไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค หน่วยงานรัฐควรกำกับดูแลโฆษณาเหล่านี้
“เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมการฯ จึงมีข้อเสนอต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องให้ 1. กำกับดูแลไม่ให้มีการโฆษณาเกินเวลาอย่างเคร่งครัด หากฝ่าฝืนควรมีมาตรการลงโทษขั้นสูงและพิจารณาปรับตามจำนวนครั้งที่โฆษณา 2. ให้มีกลไกการตรวจสอบโฆษณาอย่างสม่ำเสมอในการบังคับใช้กฎหมาย 3. การโฆษณาที่มีการอ้างถึงผลงานวิชาการ ควรเป็นผลงานในช่วง 3 ปีก่อนโฆษณา โดยเฉพาะเรื่องเครื่องสำอาง และ 4. ต้องมีช่องทางให้ประชาชนสามารถตรวจสอบเลขที่ใบอนุญาตผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาได้สะดวก” คอบช.ด้านสื่อและโทรคมนาคมกล่าว
ข่าวบทความเนื้อหาใกล้เคียงกัน:
|
Tags: กสทช.,, คอบช. , โฆษณาเกินเวลา, โฆษณาเกินจริง