ผู้บริโภคฉะ กสทช. แก้ปัญหา SMS ไม่ได้โยนภาระให้ผู้บริโภค ย้ำ บังคับใช้ประกาศ กสทช.
ผู้บริโภคฉะ กสทช. แก้ปัญหา SMS ไม่ได้โยนภาระให้ผู้บริโภค ย้ำ บังคับใช้ประกาศ กสทช. การโทรศัพท์หรือส่งข้อความโฆษณา ก่อความเดือดร้อนรําคาญแก่ผู้บริโภค ปรับไม่เกินห้าล้านบาท และหากฝ่าฝืนให้คณะกรรมการปรับรายวันอีกไม่เกินวันละ 100,000 บาท
18 เมษายน 2561 เวลา 14:40 น. ณ ห้องประชุมชั้น 2 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค – คณะกรรมการอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) แถลงข่าว กรณี กสทช.แก้ปัญหา SMS ไม่จบ และ ข้อมูลลูกค้ารั่วของบริษัททรู
ตามที่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงข่าว สั่งค่ายมือถือ ส่ง sms 2 ครั้ง เป็นการส่ง SMS เพื่อขอบคุณที่ใช้บริการ และ SMS แจ้งให้สามารถกด *137 โทรออกเพื่อยกเลิกบริการ ซึ่งจะสามารถยกเลิกการใช้บริการเสริมนั้นได้ทันที ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย. 2561 เป็นต้นไปนั้น
รศ.รุจน์ โกมลบุตร รองประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) เห็นว่า วิธีการดังกล่าวเป็นการผลักภาระให้กับผู้บริโภคต้องมายกเลิกเอง ทั้งที่การส่ง SMS รบกวน และดูดเงิน เป็นการกระทำที่เข้าข่ายเอาเปรียบผู้บริโภค และหากจะมีการส่ง SMS ควรเป็นข้อความเพื่อให้ยืนยันการสมัครเท่านั้น หากไม่กดก็ต้องถือว่ายกเลิกโดยปริยาย เพราะคนส่วนใหญ่อาจไม่ได้อ่านข้อความ SMS ทั้งหมดที่ส่งมา
อีกปัญหาหนึ่งคือ ต้องแก้ไข โปรแกรม “วางกับดัก” ที่เพียงผู้บริโภค "มือลั่น ก็ถือว่าเป็นการสมัครใช้บริการ SMS แล้ว" กับดักที่มีหลายรูปแบบทั้งที่ผู้บริโภคเพียงลาก หรือสไลด์มือถือ หรือกดหน้าจอเพื่อปิดก็เป็นการสมัครแล้วทั้งที่ผู้บริโภคไม่ได้ตั้งใจ และยังมีลูกเล่นว่า วิธีมือลั่นดังกล่าวจะไม่เกิดกับทุกคน ทำให้เข้าใจว่าเป็นความผิดพลาดของผู้บริโภคเอง
นอกจากนี้ นางสาวบุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า กสทช. ควรบังคับใช้ประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทําที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากําไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรําคาญ พ.ศ. 2558 ซึ่งกำหนดไว้ใน ข้อ 5 (5) ว่า การกระทําโดยการโทรศัพท์หรือส่งข้อความการโฆษณามายังเครื่องโทรคมนาคมหรืออุปกรณ์ของผู้บริโภคจนก่อให้เกิดความเดือดร้อนรําคาญแก่ผู้บริโภค หรือโดยมิได้รับอนุญาต หรือความยินยอมจากผู้บริโภค ซึ่งมีโทษทางปกครอง กรณีฝ่าฝืนคำสั่ง คือ ปรับไม่เกินห้าล้านบาท และหากฝ่าฝืนให้คณะกรรมการปรับรายวันอีกไม่เกินวันละ 100,000 บาท
ส่วน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประสาท มีแต้ม คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวเพิ่มเติม กรณีการเปิดเผยข้อมูลลูกค้าทรู เห็นว่า กสทช. และรัฐบาลควรเร่งผลักดันให้มีการจัดทำกฎหมายว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยยึดหลักการว่าหากมีการปล่อยให้ข้อมูลรั่ว ก็ถือเป็นความผิดแล้ว แม้ว่าจะไม่ได้นำข้อมูลนั้นไปใช้เพื่อการค้า หรือก่อความเสียหายใดๆ ก็ตาม เนื่องจากเข้าข่ายเป็นการละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคล หากกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นในสหภาพยุโรป จะมีกฎหมาย The EU General Data Protection Regulation ถูกปรับเงินร้อยละ 4 ของรายได้บริษัท หรือไม่ต่ำกว่า 20 ล้านยูโร ขึ้นอยู่กับอันใดมากกว่า ซึ่งกฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ วันที่ 25 พฤษภาคมนี้
(ติดตามชมย้อนหลัง - คณะกรรมการอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) แถลงด่วน! กรณี กสทช.แก้ปัญหา SMS ไม่จบ และ ข้อมูลลูกค้ารั่วของบริษัททรู ได้ที่นี่ >> https://bit.ly/2qHRytm)
ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสuยง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
เรื่อง การกระทําที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณา
อันมีลักษณะเป็นการค้ากําไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรําคาญ พ.ศ. 2558
- รายละเอียดฉบับเต็ม ดาวน์โหลดได้ที่ - https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/E/212/10.PDF