2nd benefit

2nd benefit

ภาคประชาสังคมเอเชีย 11 ประเทศ ขับเคลื่อนขบวนการภาคประชาชนเพื่อความยุติธรรม สันติสุข ความเสมอภาค เท่าเทียม ความยั่งยืน และประชาธิปไตย


ภาคประชาสังคมเอเชีย 11 ประเทศ  ขับเคลื่อนขบวนการภาคประชาชนเพื่อความยุติธรรม สันติสุข ความเสมอภาค เท่าเทียม ความยั่งยืน และประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

สมาชิกกลุ่มภาคประชาสังคมกว่า 70 คนจาก 11 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ทำงานทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาคได้มาพบกันในการประชุมปรึกษาหารือระดับภูมิภาค (RCM) ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในกรุงเทพฯระหว่างวันที่ 1-3 พฤษภาคม 2562 เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดการประชุมภาคประชาสังคม/ประชาชนอาเซียน (ASEAN Civil Society Conference / ASEAN People Forum หรือ ACSC/APF 2019) หลังจากการเป็นเจ้าภาพครั้งแรกของประเทศไทยเมื่อสิบปีที่แล้วในปี 2552 ทั้งนี้ การประชุมภาคประชาสังคม/ประชาชนอาเซียนกำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 2-4 กันยายน 2562 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,000 คนจากประเทศบรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย ติมอร์เลสเต และเวียดนาม ซึ่งการประชุมภาคประชาสังคม/ประชาชนอาเซียนนี้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในประเทศซึ่งเป็นประธานอาเซียนนับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา

หลังจากการแลกเปลี่ยนและอภิปรายตลอดสามวัน ตัวแทนภาคประชาสังคมได้บรรลุความตกลงและเสนอหัวข้อ “ ขับเคลื่อนขบวนการภาคประชาชนเพื่อความยุติธรรม สันติสุข ความเสมอภาค เท่าเทียม ความยั่งยืน และประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ให้เป็นหัวใจสำคัญสำหรับการจัดการประชุมที่จะมาถึง ทั้งนี้โดยเน้นประเด็นปัญหาที่เป็นหลัก 7 ประเด็นคือ 1) สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยและการเข้าถึงความยุติธรรม 2) การค้าการลงทุนและอำนาจของภาคธุรกิจ 3) สันติภาพและความมั่นคง 4) การอพยพย้ายถิ่น การค้ามนุษย์และผู้ลี้ภัย 5) งานที่มีคุณค่า สุขภาพ และการคุ้มครองทางสังคม 6) ความยั่งยืนทางนิเวศวิทยา และ 7) นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่และสิทธิทางดิจิทัล โดยประเด็นเหล่านี้ ภาคประชาสังคมและประชาชนตระหนักว่า แม้จะได้รับการบรรจุให้เป็นประเด็นระดับภูมิภาคในกรอบกลไกอาเซียน ให้เชื่อมโยงกับเสาหลักทั้งสามของอาเซียนที่มีอยู่ คือเสาการเมืองและความมั่นคง เสาเศรษฐกิจและเสาสังคมและวัฒนธรรม แต่ประเทศสมาชิกของอาเซียนยังคงล้มเหลวในการตอบสนองต่อปัญหาเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพจนถึงปัจจุบัน

ด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และการมีส่วนร่วมอย่างครอบคลุมและมีนัยสำคัญ เวทีการประชุมภาคประชาสังคมและประชาชน 2562 (ACSC/APF 2019) จะเป็นเวทีที่มีการพูดคุย แลกเปลี่ยน สะท้อนปัญหา และความท้าทายของประชาชนและชุมชนของภูมิภาค อันจะเป็นการยืนยันว่าหลักการ “อาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ที่สิทธิและบทบาทของภาคประชาสังคมและประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับการยอมรับและเคารพ ทั้งในหลักการและการปฏิบัติโดยแท้จริง

พวกเราจะยังคงเดินหน้าเรียกร้องเพื่อให้อาเซียนจัดการและแก้ไขปัญหาข้างต้น เรายังยืนยันและยืนหยัดเพื่อให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง