2nd benefit

2nd benefit

เครือข่ายประชาชนเปิดตัวกองทุนแสงอาทิตย์เพื่อความเป็นธรรมด้านพลังงาน


เปิดตัวกองทุนแสงอาทิตย์ เพื่อพลังงานที่เป็นธรรม หวังติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับ โรงพยาบาลภาครัฐที่เข้าร่วมโครงการเฟสแรก 7 แห่ง 

กรุงเทพฯ, 29 พฤศจิกายน 2561 - เครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศในนามคณะกรรมการ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน(คอบช.) ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม ด้านศาสนา ด้านการพัฒนาเด็ก ด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน [1] ประกาศเปิดตัว “กองทุนแสงอาทิตย์ (Thailand Solar Fund) กองทุนเพื่อความเป็นธรรมด้านพลังงาน” ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

ผู้ร่วมแถลงข่าวประกอบด้วยพระครูวิมล ปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม จ.อุบลราชธานี ผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรมโรงเรียนพลังงานแสงอาทิตย์ นางสาวสารี  อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา นายแพทย์ศักดิ์สิทธิ์ มหารัตนวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหลังสวน จ.ชุมพร นายกิติภูมิ จุฑาสมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูสิงห์ จ.ศรีษะเกษ  รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ผศ.ประสาท  มีแต้ม คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน  นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้านพลังงาน และนางสาวบุญยืน  ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค

นางสาวสารี  อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อโภค กล่าวว่า เราได้รับความเมตตา จากท่านพระครูวิมลปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม จ.อุบลราชธานี ผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรม ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์จนได้รับการขนานนามว่า “โรงเรียนแสงอาทิตย์” เป็นประธานกองทุนแสงอาทิตย์  เป้าหมายของกองทุนฯ คือ การปฏิรูประบบพลังงานของประเทศเพื่อความเป็นธรรมทั้งต่อประชาชน สังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการผลักดันให้เกิดการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารโรงพยาบาล โรงเรียน อาคารสาธารณะที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันของชุมชน ชุมชนที่เข้าไม่ถึงระบบไฟฟ้า และที่สำคัญคือเพื่อก่อให้เกิดนโยบายและมาตรการสนับสนุนระบบ Net metering รองรับการผลิตและการใช้ไฟฟ้าของประชาชน”

 

กองทุนแสงอาทิตย์จะเปิดรับบริจาคเงินจากประชาชนทั่วประเทศผ่านบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) สาขาเซ็นเตอร์วัน ช้อปปิ้งพลาซ่า ชื่อบัญชี “กองทุนแสงอาทิตย์โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” เลขที่บัญชี 429-017697-4 โดยมีช่องทางการรับบริจาคและรับหลักฐานการบริจาค เงินทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.thailandsolarfund.org ทั้งนี้การบริจาคเงิน สามารถใช้ในการลดหย่อนภาษีประจำปีได้ ด้วยมูลนิธิฯ เป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ลำดับที่ 576 ตามประกาศกระทรวงการคลัง [2]

พระครูวิมล ปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า “อาตมามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับนิมนต์จากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายประชาชน ให้เป็นประธานกองทุนแสงอาทิตย์ รองรับการระดมเงินบริจาคของประชาชนสู่ “กองทุนแสงอาทิตย์” เพื่อการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับโรงเรียน โรงพยาบาลทั่วประเทศ ถือเป็นความร่วมไม้ร่วมมือของประชาชนในการสร้างพลังงานเพื่อมนุษยธรรมโดยแท้ เพราะแสงอาทิตย์เป็นพลังงานธรรมชาติ เป็นพลังงานสะอาดที่มนุษย์เราจะนำใช้ได้ไม่มีวันหมด และจะช่วยให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองทางด้านพลังงานได้”

โครงการช่วงแรกของกองทุนแสงอาทิตย์ จะติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาลของรัฐ 7 แห่ง ด้วยเงินที่จะขอรับบริจาคจากประชาชนทั้งหมด โดยจะติดตั้งแห่งละ 30 กิโลวัตต์ในระบบออนกริดหรือระบบที่ไม่ใช้แบตเตอรี่สำรองแต่ยังเชื่อมต่อระบบกับการไฟฟ้า เพื่อเป็นการเริ่มต้นการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานให้กับโรงพยาบาล

นายแพทย์ศักดิ์สิทธิ์ มหารัตนวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหลังสวน จ.ชุมพร ซึ่งเป็นหนึ่งโรงพยาบาลของรัฐที่เข้าร่วมโครงการเฟสแรก กล่าวว่า “ทางโรงพยาบาลมี ศักยภาพในการติดตั้งโซล่าเซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีอาคารบริการของโรงพยาบาลที่มีความเหมาะสมในการติดตั้งและลงทุน มีบุคลากรอย่างเช่นช่างซ่อมบำรุงที่จะสามารถเข้าร่วมอบรมเพื่อพัฒนาทักษะในการร่วมติดตั้ง และดูแลรักษา อีกประมาณ 8 คน มีนโยบายและคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาล มีความมุ่งมั่นในการประหยัดพลังงาน และการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน

การระดมทุนเพื่อติดตั้งโซลาเซลล์ให้กับโรงพยาบาล เชื่อว่าจะช่วยลดภาระค่าไฟให้กับโรงพยาบาลได้ส่วนหนึ่ง และหากมีมาตรการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพร่วมด้วยจะช่วยให้ลดภาระค่าไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเลยทีเดียว”

 

นายแพทย์กิติภูมิ จุฑาสมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูสิงห์ จ.ศรีษะเกษ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโรงพยาบาลของรัฐที่เข้าร่วมโครงการเฟสแรก กล่าวว่า “โรงพยาบาลให้ความสนใจในเรื่องการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการสร้างค่านิยมและจิตสำนึกด้วยการจัดกิจกรรมด้านการอนุรักษ์พลังงานง่ายๆ ที่ทำได้จริงและเห็นผลชัดเจน สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการใช้พลังงานและกระตุ้นให้บุคลากรขององค์กร ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้พลังงานและมีส่วนร่วมช่วยอนุรักษ์พลังงานของหน่วยงานมากขึ้น การที่ประชาชนจะร่วมบริจาคให้ความช่วยเหลือติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาล เชื่อว่านอกจากจะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าแล้วยังส่งผลให้บุคลากรของโรงพยาบาลและประชาชนที่เข้ามาใช้บริการเกิดความตื่นตัวและเห็นคุณค่าของการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์มากขึ้น”

พระครูวิมล ปัญญาคุณ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาด 30 วัตต์ให้กับ โรงพยาบาล แม้จะไม่ใช่ขนาดใหญ่โตแต่ก็สามารถช่วยลดค่าไฟฟ้า ให้กับโรงพยาบาลได้ถึงปีละ 2 แสนกว่าบาท ดังที่อาตมาได้ทำนำร่องให้กับโรงพยาบาล 50 พรรษามหาวชิราลงกรณ์ ซึ่งใช้งบประมาณ 720,000 บาท ทางโรงพยาบาลออก 300,000 บาท ที่เหลือก็ได้จากการร่วมบริจาค ตราบใดที่พระอาทิตย์ยังส่องแสงมาคาดว่าไม่เกินครึ่งปี ทางโรงพยาบาลก็จะได้เงิน 300,000 บาทที่ลงทุนติดตั้งคืน หากเราสามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้โรงพยาบาลทั่วประเทศได้ประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ จะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้เดือนละ 600 ล้านบาท หรือปีละ 7,200 ล้านบาท ตลอดอายุการใช้งานของโซล่าร์เซลล์ 25 ปี จะประหยัดค่าไฟรวมกันได้ 180,000 ล้านบาท จำนวนเงินที่โรงพยาบาลประหยัดได้นี้จะสามารถนำไปช่วยเหลือคนจนคนรวยยามเจ็บไข้ได้ป่วยทั้งประเทศ และยังลดการพึ่งพางบประมาณจากรัฐบาลอีกทางหนึ่งด้วย”

โรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา คือตัวอย่างของความสำเร็จในการติดตั้งโซลาร์เซลล์และ การบริหารจัดการการใช้พลังงาน ของโรงพยาบาลในประเทศไทย เป็นผลให้ค่าไฟฟ้าลดลงเป็น 100,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ โรงพยาบาลจะนะเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 72 เตียง มีค่าไฟฟ้าเดือนละ 250,000 บาท เท่ากับว่าใรปีหนึ่งๆ ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาทซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก        

นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา กล่าวว่า “การผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองให้ได้ส่วนหนึ่งเป็น “the must” หรือ “ต้องทำ” เพราะนี่คือส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบต่อสังคม ช่วยเพิ่มการพึ่งพาพลังงานหมุนเวียน ช่วยลดโลกร้อน ช่วยลดการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม รัฐบาลควรพิจารณาสนับสนุนการดำเนินการให้ทุกโรงพยาบาลและ รพ.สต. รวมทั้งอาคารสำนักงานของทางราชการ ท้องถิ่น และบ้านเรือนประชาชน มีการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาให้ครบทุกแห่ง มีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เช่นหลอดไฟและแอร์เก่า ซึ่งจะเป็นรูปธรรมการพัฒนาที่สอดคล้องกับการลดโลกร้อนด้วย ทั้งนี้ค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้ สำหรับโรงพยาบาลก็จะได้นำไปใช้จ่ายเพื่อดูแลผู้ป่วยต่อไป  สำหรับองค์กรอื่นๆก็จะได้มีงบประมาณในการทำประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น เป็นประโยชน์สองต่ออย่างชัดเจน”

หมายเหตุ :

[1] เครือข่ายกองทุนแสงอาทิตย์ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน(คอบช) ,สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ), เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค, สมาคมประชาสังคมชุมพร ,มูลนิธิป่า-ทะเลเพื่อชีวิต, บริษัทศูนย์บ่มเพาะวิศวกร จำกัด ,Solarder, โรงเรียนศรีแสงธรรม, มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด), เครือข่ายสลัม4ภาค, มูลนิธิภาคใต้สีเขียว, เครือข่ายลันตาโกกรีน Lanta Goes Green,  มูลนิธิสุขภาพไทยและ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

[2] เป้าหมายแรกคือการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับ โรงพยาบาลภาครัฐที่เข้าร่วมโครงการเฟสแรก 7 แห่ง คือ ภาคเหนือ 1 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลท่าสองยาง จ.ตาก ภาคอีสาน 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ โรงพยาบาลศรีอุดม จ.อุบลราชธานี และโรงพยาบาลชุมแพ จังหวัดขอนแก่น  ภาคกลาง 1 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลแก่งคอย จ.สระบุรี ภาคตะวันตก 1 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และ ภาคใต้ 1 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลหลังสวน จ.ชุมพร โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้อย่างเร็วที่สุดประมาณกลางเดือนมกราคม 2562 โดยกำหนดค่าติดตั้งและอุปกรณ์ที่จะขอรับบริจาคจากประชาชนไม่เกินวัตต์ละ 35 บาท ภายใต้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ทำให้ต้องใช้งบดำเนินการประมาณ 1.1 ล้านบาทต่อโรงพยาบาล รวม 7 โรงพยาบาลจะเป็นเงินที่ขอรับบริจาคทั้งสิ้น 7.7 ล้านบาท เมื่อได้รับบริจาคครบ 7.7 ล้านบาทแล้วกองทุนแสงอาทิตย์จะปิดรับบริจาคทันทีในเฟสที่ 1 ทั้งนี้เมื่อได้เงินบริจาค 1.1  ล้านบาทแรกก่อน กองทุนแสงอาทิตย์จะทยอย ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาของโรงพยาบาลแห่งแรกทันที และจะดำเนินต่อไปไปทีละแห่งจนครบทั้ง 7 แห่งโดยเร็วที่สุดตามเงินบริจาคที่ได้รับมา สำหรับช่างที่จะมาดำเนินการจะใช้วิธีการประกวดราคาแข่งขันภายใต้งบประมาณ และอุปกรณ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลง จึงขอเชิญชวนช่างหรือผู้ประกอบธุรกิจด้านโซลาร์เซลล์ที่ต้องการสนับสนุนและเข้าร่วมกิจกรรมนี้ได้เสนอชื่อและเอกสารการเสนอราคามายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561

[3] โรงพยาบาลหลังสวน เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ขนาด 120 เตียง รับผิดชอบประชากรอำเภอหลังสวนและอำเภอใกล้เคียงในจังหวัดชุมพรไม่น้อยกว่า 150,000 คน และรับส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลชุมชนในโซนใต้ของจังหวัดชุมพร ประกอบด้วยโรงพยาบาลละแม ,โรงพยาบาลพะโต๊ะ, โรงพยาบาลทุ่งตะโก และโรงพยาบาลปากน้ำหลังสวน ด้วยขีดจำกัดทางด้านงบประมาณและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทางโรงพยาบาลหลังสวนจึงจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายที่สามารถทำได้ อย่างเช่น การประหยัดพลังงานและการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน เนื่องจากปัจจุบันภาระค่าไฟฟ้าของโรงพยาบาลเฉลี่ยเดือนละราว 5 แสนบาท

[4] โรงพยาบาลภูสิงห์ เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง อยู่ติดชายแดนไทย-กัมพูชา เป็นพื้นที่ติดชายแดนอยู่ห่างจากตัวจังหวัดศรีสะเกษ 85 กิโลเมตร มีแพทย์จำนวน 5 คน ดูแลโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจำนวน 9 แห่ง และหน่วยโรงพยาบาล 1 แห่ง รองรับการให้บริการประชาชนในพื้นที่อำเภอภูสิงห์กว่า 53280 คน และรวมถึงประชาชนจากประเทศกัมพูชาด้วย ปัจจุบันพบว่าโรงพยาบาลมีการใช้พลังงานสูงและมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นอีกในอนาคต ทำให้

ค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าสูงขึ้นเนื่องจากโรงพยาบาลมีการขยายเพิ่มของอาคารและการพัฒนาส่วนต่างๆ ที่ต้องใช้พลังงาน ในปี 2560 โรงพยาบาลมีภาระค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเดือนละ 150,000 บาทหรือ 1.8 ล้านบาทต่อปี แต่ในปี 2561 โรงพยาบาลมีภาระค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยเดือนละ 160,000 บาทหรือ 1.9 ล้านบาทต่อปี

[5] โรงพยาบาลจะนะใช้ 3 มาตรการในการลดค่าไฟฟ้า คือ (1) ติดแผงโซลาร์ 20 กิโลวัตต์ แบบ on grid ไม่ใช้แบตเตอรีเก็บไฟ ระบบไฟยังเชื่อมต่อกับสายส่งของการไฟฟ้า ดังนั้นพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จะน้อยกว่าพลังงานไฟฟ้าที่โรงพยาบาลใช้ เพื่อลดพีคการใช้ไฟในเวลากลางวันลง ด้วยเงินบำรุงเงินที่โรงพยาบาลเก็บหอมรอมริบเอง ประมาณ 800,000 บาท โดยเริ่มผลิตไฟได้ตั้งแต่ 22 ตุลาคม 2560 จากการประมาณการคาดว่าจะสามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้เดือนละ 12,000 บาท หรือปีละ 150,000 บาท แม้จะไม่มากเมื่อเทียบกับค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่ายเดือนละ 250,000 บาท แต่ก็ใช้เวลาเพียง 5-6 ปีก็คืนทุนแล้ว อายุแผ่นโซลาร์ 25 ปี นั่นแปลว่าจะได้ใช้ไฟฟรีอีก 19-20 ปี (2) เข้าโครงการของกระทรวงพลังงานในการเปลี่ยนหลอด LED ทั้งโรงพยาบาล และเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศเป็นระบบ invertor ไปถึง 66 ตัว จากที่โรงพยาบาลจะนะมีแอร์ทั้งหมด 110 ตัว  โดยได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงพลังงาน 2.5 ล้านบาท และโรงพยาบาลต้องสมทบเงินบำรุง 30% หรือราว 1 ล้านบาท และ (3) การปรับระบบการทำงานของโรงพยาบาล โดยเฉพาะส่วนของซักฟอกและระบบการนึ่งฆ่าเชื้ออุปกรณ์ โดยจัดให้มีการเหลื่อมเวลาการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าพร้อมๆกัน ซึ่งได้ผลลัพธ์ดีกว่าที่คาดหมายมาก

รับชมการถ่ายทดสด คลิก 

ร่วมบริจาคออนไลน์ที่ 
www.thailandsolarfund.org

หรือบริจาคโดยตรงที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขบัญชี429-017-697-4 และสามารถขอใบลดหย่อนภาษีได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โทร. 02 248 3737

ติดต่อประสานงาน :

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา โทรศัพท์ 095-534-2575

อีเมล์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.