ก.อุตฯ นับหนึ่งใหม่ศึกษายกเลิกแร่ใยหินฯ สรุปสิ้นปี
กรมโรงงานอุตสาหกรรมไม่รีบเร่งศึกษาผลกระทบแร่ใยหินไครโซไทล์ คาดสรุปสิ้นปีนี้หลัง ครม.ตีกลับ ยอมรับต้องศึกษารอบคอบและมีข้อมูลเพียงพอหวั่นถูกฟ้องร้องได้ ขณะที่ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ยันไม่หนุนยกเลิกการใช้ หวั่นกระทบประชาชน
นายศักดา พันธ์กล้า รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับผู้บริหารศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์เพื่อขอความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายการยกเลิกใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ในประเทศไทยว่า ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งคณะทำงานศึกษาถึงแนวทางดังกล่าวและอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน คาดว่าจะศึกษาเสร็จภายในปี 2558 ทั้งนี้ เนื่องจากนโยบายเดิมที่ศึกษาไว้จะทยอยการเลิกใช้ในสินค้า 6 รายการหลักภายใน 2-5 ปี คณะรัฐมนตรีได้ตีกลับมาให้ศึกษาใหม่
“ครม.เองก็ต้องการให้ศึกษาอย่างรอบคอบในการยกเลิกเพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และจะต้องหาข้อมูลที่ชี้ชัดว่าแร่ดังกล่าวมีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างแท้จริงโดยเฉพาะการก่อให้เกิดมะเร็ง เพราะที่ผ่านมาทางสาธารณสุขเองก็ยอมรับว่าไม่ได้มีการจัดเก็บข้อมูลจุดนี้อย่างชัดเจน การยกเลิกไปโดยไม่มีข้อมูลที่เพียงพออาจถูกฟ้องร้องได้จากทุกฝ่าย รวมถึงการศึกษา แร่บะซอลต์ทดแทนก็ยังไม่มีผลการศึกษารองรับว่ามีคุณสมบัติแข็งแรงทนทานกว่าแร่ใยหินไครโซไทล์และไม่มีอันตรายจริงหรือไม่ เหล่านี้ก็ต้องไปศึกษาจึงต้องใช้เวลา” นายศักดากล่าว
นายเมธี อุทโยภาส ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ (ซีไอซี) กล่าวว่า ศูนย์ฯ ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการยกเลิกแร่ใยหินฯ กับกระทรวงอุตสาหกรรม เนื่องจากเห็นว่าประชาชนเองก็ใช้สินค้าที่มีแร่ใยหินฯ เช่นกระเบื้องหลังคามานานกว่า 70 ปีแล้ว รวมทั้งยังไม่มีผลการศึกษาทางวิชาการยืนยันได้ว่าวัตถุดิบที่จะมาทดแทนแร่ใยหินฯ ไม่เป็นอันตรายต่อสุภาพ หรือมีวัสดุดิบใดที่มีคุณภาพทัดเทียม และราคาที่เหมาะสม
ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์ 5 มีนาคม 2558 16:37 น.
บทความเนื้อหาใกล้เคียงกัน:
|