แร่ใยหิน (Asbestos)
แร่ใยหินเป็นกลุ่มของแร่ซิลิเกตที่เกิดตามธรรมชาติ มีผลึกเป็นเส้นใยยาว มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 6 ชนิด เนื่องจากแร่ใยหินมีคุณสมบัติพิเศษ คือ ทนแรงดึงและมีความยืดหยุ่นสูง ไม่นำไฟฟ้าและความร้อน มีความสามารถในการดูดซึมสูง ทนไฟและสารเคมี จึงนิยมนำแร่ใยหินมาใช้ในการทางอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องปูพื้น ท่อซีเมนต์ เบรกรถและคลัตช์ ฉนวนกันความร้อน แผ่นกันเสียง พลาสติก เป็นต้น
องค์การอนามัยโลก ระบุว่า แร่ใยหินทุกประเภทเป็นสาเหตุของมะเร็งปอด มะเร็งเยื่อใยหิน (mesothelioma) มะเร็งกล่องเสียงและมะเร็งรังไข่ และยังเป็นสาเหตุของโรคที่เรียกว่า แอสเบสโตซิส (asbestosis) ซึ่งหมายถึง การเกิดพังผืดในเนื้อเยื่อปอด
เราอาจได้รับแร่ใยหินเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งจากการทำงานที่เกี่ยวข้องกับแร่ใยหินโดยตรง เช่น ทำงานในโรงงานกระเบื้องปูหลังคา และการหายใจเอาอากาศที่มีฝุ่นละอองแร่ใยหินฟุ้งกระจายอยู่เข้าไป ไม่ว่าจะเป็นบริเวณรอบๆ โรงงานที่ผลิตผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับแร่ใยหิน หรือแม้แต่บ้านหรือสถานที่อื่นๆ ที่มีการใช้แร่ใยหินในการก่อสร้าง
องค์การอนามัยโลกยังรายงานว่า ปัจจุบันมีประชากรกว่า 125 ล้านคนทั่วโลกได้รับแร่ใยหินเข้าสู่ร่างกายจากการประกอบอาชีพ ในจำนวนนี้ 107,000 คนต้องจบชีวิตลงด้วยมะเร็งที่มีสาเหตุมาจากแร่ใยหิน นอกจากนี้ยังมีประชากรจำนวนมากที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับแร่ใยหินทั้งๆ เพียงเพราะหายใจเอาอากาศที่มีการปนเปื้อนของฝุ่นละอองแร่ใยหินเข้าไป
การกำจัดโรคที่เกิดจากแร่ใยหินสามารถทำได้โดยอาศัยการขับเคลื่อนทางสาธารณสุข 4 ประการ
- ยอมรับว่า หนทางที่ดีที่สุดที่จะกำจัดโรคที่เกิดจากแร่ใยหิน คือ การยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกประเภท
- จัดหาวัสดุที่ปลอดภัยกว่ามาใช้ทดแทนแร่ใยหิน พร้อมกับพัฒนากลไกที่เกี่ยวข้องเพื่อเผยแพร่และกระตุ้นให้เกิดการใช้วัสดุทดแทนนี้
- วางมาตรการป้องกันการได้รับแร่ใยหินเข้าสู่ร่างกาย ทั้งในส่วนที่ยังมีการใช้งานอยู่ และที่อยู่ระหว่างการรื้อถอน
- ปรับปรุงวิธีวินิจฉัยโรค กระบวนการรักษา และการพักฟื้นผู้ป่วยโดยโรคที่เกิดจากแร่ใยหิน รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลเพื่อขึ้นทะเบียนผู้ที่เคยได้รับ หรือผู้ที่ยังมีโอกาสได้รับแร่ใยหินในปัจจุบัน
ที่มา : World Health Organization
ผู้แปล : ภิญญุภา เปลี่ยนบางช้าง