พลังผู้บริโภค ชนะคดีเชฟโรเลต ได้เงินคืน กว่า 1 ล้านบาท
ศาลพิพากษาให้ตัวแทนจำหน่ายและผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อเชฟโรเลต คืนเงินดาวน์และเงินค่าเช่าซื้อทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 คืนแก่ผู้บริโภคที่ซื้อรถใหม่แต่ซ่อมแล้วซ่อมอีก
วันนี้ (9 ต.ค.58) เวลา 10.00 น.ที่ห้องพิจารณาดี 602 ศาลแพ่งรัชดา พิพากษาคดีกรณีผู้เสียหายจากการซื้อรถยนต์ฯจำนวน 6 ราย ยื่นฟ้องคดีผู้บริโภคกับบริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 บริษัทตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เป็นจำเลยที่ 2 และบริษัทผู้เช่าซื้อรถยนต์เป็นจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2557 ให้ทั้งบริษัทตัวแทนจำหน่ายและบริษัทผู้เช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อเชฟโรเลต ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้บริโภค
โดยผู้เสียหายได้ยื่นฟ้อง 4 ประเด็นนั่นคือ 1.ขอให้รับผิดชอบคืนเงินดาวน์และค่างวดการเช่าซื้อที่ชำระไปแล้วทั้งหมด 2.ขอให้บริษัทฯ รับผิดชอบค่าใช้สอยรถยนต์ต่อผู้ให้เช่าซื้อเต็มจำนวนแทนผู้บริโภค เนื่องจากสาเหตุที่ต้องบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและเรียกเงินคืนนั้นเพราะสินค้าชำรุดบกพร่องจากการผลิต ไม่ใช่จากการใช้งานปกติของผู้บริโภค 3.ขอให้ศาลห้ามบริษัทฯ จำหน่ายรถยนต์รุ่นพิพาท และให้เรียกเก็บสินค้าดังกล่าวจนกว่าจะได้เปลี่ยนแปลงให้มีความปลอดภัย แต่หากแก้ไขไม่ได้นั้นห้ามผลิตหรือนำเข้ามาจำหน่าย และ 4.ขอเรียกค่าเสียหายต่อจิตใจที่ต้องหวาดกลัว วิตกกังวล ตลอดเวลาในการใช้รถยนต์พิพาท
นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงคำพิพากษาว่าจากข้อเรียกร้องทั้ง 4 ข้อที่ยื่นฟ้องไปนั้น ศาลตัดเรื่องการเยียวยาทางจิตใจและการงดจำหน่ายรถรุ่นที่เป็นประเด็นการฟ้องร้อง เพราะศาลมองเป็นรายกรณีไป ข้อเรียกร้องที่ศาลพิพากษาก็คือการขอให้รับผิดชอบคืนเงินดาวน์และค่างวดการเช่าซื้อที่ชำระไปแล้วทั้งหมด ซึ่งศาลพิจารณาตามหน้าที่ของบริษัทที่ต้องชำระคืน ทั้งเงินดาวน์ นั้นก็คือผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ของบริษัทเชปโรเล็ต คืนเงินดาวน์ทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ตั้งแต่วันทำสัญญาจนถึงวันที่ชำระคืนให้ผู้บริโภคจนเสร็จ และให้บริษัทผู้เช่าซื้อรถยนต์คืนเงินค่าเช่าซื้อทั้งหมด ตั้งแต่วันรับฟ้องคดีพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจะชำระหมด แต่ให้ผู้บริโภคชำระเงินค่าใช้รถคืนให้กับบริษัทผู้เช่าซื้อรถยนต์วันละ 100 บาท ตั้งแต่วันรับรถจนกว่าจะคืนรถ
กรณีของบริษัทรถยนต์ที่หลุดไปนั้นศาลมองว่าไม่ได้อยู่ในส่วนของสัญญาตามที่ฟ้องไป ที่มีความผูกพันกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่คู่สัญญาจะต้องไปไล่บี้กับทางบริษัทผลิตรถยนต์เอง สัญญาที่ผูกพันกันอยู่มี 2 ส่วนก็คือบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถกับบริษัทเช่าซื้อ
“คดีนี้เป็นบรรทัดฐานให้กับสังคมได้นั่นก็คือการฟ้องคดีก็สร้างความเป็นธรรมได้ทั้งตัวผู้ร้องและเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะฉะนั้นอย่ารอ ยิ่งรออาจะทำให้ยิ่งเกิดความเสียหาย ผู้บริโภคควรที่จะออกมาใช้สิทธิ์ คดีนี้รวมเวลาตั้งแต่เกิดเรื่องจนถึงการเรียกร้องสิทธิ์ที่ศาลราวๆ 3 ปี ศาลชั้นต้นจึงตัดสินให้เยียวยา แต่คดียังไม่ถึงที่สุดจำเลยอาจมีการอุทธรณ์คดี ผู้บริโภคต้องรอดูว่าบริษัทจะยื่นอุทธรณ์คดีหรือไม่ในอีก 30 วัน” หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าว
น.ส.สุทธาพร มฤคพิทักษ์ ตัวแทนผู้เสียหายจากการซื้อรถยนต์ฯ กล่าวว่าพวกตนรู้สึกดีใจ เพราะกว่าที่จะมาถึงวันนี้ต้องอาศัยความอดทนอย่างมากมายในหลายๆเรื่อง และพร้อมจะเดินหน้าต่อและขอขอบคุณมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ยืนเคียงข้างผู้บริโภคตั้งแต่ทางจนสุดปลายทาง
“ในฐานะผู้บริโภคที่เดือนร้อนเป็นกำลังใจให้กับผู้เดือนร้อนไม่ว่าจะเป็นกรณีรถยนต์ ที่พักอาศัย หรืออุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ เพราะนี่คือการใช้สิทธิในฐานะของผู้บริโภค ในฐานะของประชาชน ซึ่งไม่ง่ายนักที่จะถึงจุดที่เราจะได้รับคำตอบและการเยียวยา เฉพาะกรณีเชฟโรเลตครูซ พวกเราใช้เวลามากว่า 2 ปีกว่า ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ต้องใช้ความอดทนท้อได้แต่อย่าถอย” น.ส.สุทธาพร กล่าว
ข่าวบทความเนื้อหาใกล้เคียงกัน:
|
Tags: สิทธิผู้บริโภค , ผู้เสียหาย , มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค , ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค, ผู้บริโภค, สุทธาพร มฤคพิทักษ์, คดีเชฟโรเลต, เชฟโรเลต