สุภัทรา แนะรัฐธรรมนูญใหม่ต้องมีองค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
อดีต กรธ.ร่างรัฐธรรมนูญชี้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องมีองค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อยกระดับงานคุ้มครองผู้บริโภคให้เข้มแข็ง และส่งเสริมการพัฒนามาตรฐานสินค้าและบริการ
ภายหลังโฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานยกร่าง แถลงถึงความคืบหน้าในการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีการเพิ่มสิทธิของผู้บริโภคขึ้นในหมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยระบุว่าเป็นไปตามความเห็นของภาคประชาชน ทั้งนี้ร่างรัฐธรรมนูญที่ กรธ. ปรับแก้กำหนดสาระสำคัญว่า "องค์กรของผู้บริโภคมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลังในการพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทั้งนี้หลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง อำนาจในการเป็นตัวแทนผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด" พร้อมระบุว่า ไม่กำหนดให้มีองค์การคุ้มครองผู้บริโภคองค์กรเดียวอย่างในรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 เพราะ กรธ. มองว่าในทางปฏิบัตินั้นโลกวันข้างหน้าจะมีความหลากหลาย
น.ส. สุภัทรา นาคะผิว อดีต กรธ.ร่างรัฐธรรมนูญ ได้ให้ความเห็นว่า หน้าที่ในการตรวจสอบในฐานะประชาชนในฐานะผู้บริโภคมีอยู่แล้ว เป็นสิทธิและหน้าที่พื้นฐานของประชาชนในฐานะผู้บริโภค แต่การกำหนดให้เป็นองค์การอิสระในรัฐธรรมนูญ เป็นองค์การมหาชนแบบหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่ที่เรียกว่า special delivery unit จะมีศักดิ์และสิทธิมากกว่าการรวมตัวเป็นกลุ่ม ชมรม มูลนิธิ สมาคม หรือรูปแบบอื่นๆ เป็นการสร้างหลักประกันให้กับสิทธิผู้บริโภคที่จะได้รับการคุ้มครอง
"การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเรื่องที่กระทบกับประชาชนทุกคน เป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชน เป็นรูปธรรม จับต้องได้ ทำไมรัฐบาลนี้ถึงไม่หยิบจับมาเป็นผลงาน และสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชน โดยส่วนตัวมองว่าไม่ซ้ำซ้อนกับ สคบ.แต่จะเสริมให้การทำงานคุ้มครองผู้บริโภคมีความเข้มแข็งขึ้น ยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการให้ดีขึ้นด้วย" อดีต กรธ.ร่างรัฐธรรมนูญกล่าว
กรณีประเด็นเรื่องสิทธิประชาชนนั้น อดีต กรธ. มองว่าถูกลดทอนลงกว่าเดิมในร่างรัฐธรรมฉบับดังกล่าวว่า ถ้าเทียบกับมาตรฐานเดิมคือรัฐธรรมนูญปี 2540 ปี 2550 เพราะการกำหนดให้มีองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค โดยรัฐให้การสนับสนุนงบประมาณที่เพียงพอ เป็นการยกระดับงานคุ้มครองผู้บริโภคที่มากกว่าการส่งเสริมการรวมตัวทั่วไปของผู้บริโภค ซึ่งเสรีภาพในการรวมตัวหรือรวมกลุ่มกันเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอยู่แล้ว แต่เจตนารมณ์ของการให้มีองค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้มีองค์กรของผู้บริโภคที่เข้ามาทำหน้าที่ในการสร้างความเข้มแข็งของผู้บริโภค
"เป็นการใช้พลังผู้บริโภคในการพัฒนามาตรฐานของสินค้าและบริการ ทำให้ผู้บริโภคมีความรู้ คอยเป็นหูเป็นตา ให้กับหน่วยงานรัฐ เพราะลำพังการมีกฎหมายที่ดี มีหน่วยงานรัฐด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีเท่านั้นไม่เพียงพอ เพราะสินค้าและบริการมีมากมาย ต้องให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วม ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับการพิสูจน์มาแล้วในหลายประเทศ" น.ส. สุภัทรา กล่าวเพิ่มเติม
สัมภาษณ์ เมื่อ 12 มีนาคม 2559
สัมภาษณ์โดย มัลลิษา คำเฟย