2nd benefit

2nd benefit

ร้อง ป.ป.ช. ตรวจสอบ กสทช. เหตุไม่บังคับค่ายมือถือคิดค่าบริการตามการใช้งานจริง ทำผู้บริโภคเสียหายมากกว่า 18,032.70 ล้านบาท ภายใน 7 เดือน

press 28DEC2016 web-01         

เครือข่ายผู้บริโภค ร้อง ป.ป.ช. ตรวจสอบ กสทช. เหตุไม่บังคับค่ายมือถือคิดค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามการใช้งานจริง ทำผู้บริโภคเสียหายมากกว่า 18,032.70 ล้านบาท ภายใน 7 เดือน

         (วันนี้) 28 ธ.ค.59 เวลา 10.30 น. นางสาวชลดา บุญเกษม ตัวแทนคณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน นางสาวบุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และ นางสาวสารี  อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  พร้อมเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบเลขาธิการกสทช. จากกรณีไม่บังคับให้ผู้รับใบอนุญาตสองราย คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) และ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย ตามที่ได้มีมติ กทค. เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 เลขาธิการกสทช. ไม่สามารถอ้างเหตุการอุทธรณ์คำสั่งของบริษัท เพราะมติกสทช.ถือเป็นที่สุด หากบริษัทไม่พอใจต้องดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง และไม่ปรากฎว่ามีการดำเนินการฟ้องคดีหลังมีคำสั่งมากกว่า ๖ เดือน สำนักงาน กสทช. นอกจากจะไม่สามารถบังคับให้ผู้ให้บริการปฏิบัติตามมติ กทค. ได้ กลับเสนอให้ที่ประชุม กทค. พิจารณาทบทวนมติ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคมากกว่า ๑๘,๐๓๒.๗๐ ล้านบาท ใน ๗ เดือนนับจากที่กทค. มีมติอาจจะเข้าข่ายความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา เข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

         ส่วนคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เสียงข้างมาก เป็นผู้เห็นชอบหลักเกณฑ์ในการประมูลคลื่นความถี่และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ย่าน ๑๘๐๐ MHz และ ๙๐๐ MHz  โดยข้อ ๒๑ (๕) กำหนดให้ผู้รับอนุญาตต้องจัดให้มีบริการที่เป็นธรรม ซึ่งรวมถึงการกำหนดอัตราค่าบริการที่สมเหตุผล ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค มีความชัดเจนและการให้บริการที่มีคุณภาพ รวมทั้งจะต้องคิดค่าบริการตามการใช้งานจริง รวมทั้งมีมติและจะเป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่การคิดค่าบริการตามการใช้งานจริงในย่านความถี่อื่นต่อไป กทค. เสียงข้างมาก นอกจากจะไม่กำกับสำนักงานเร่งรัดผู้รับใบอนุญาตให้คิดค่าบริการตามการใช้งานจริงตามมติของตนเอง ยังมีการปฏิบัติที่ล่าช้าเกินควร ทั้งที่ได้รับข้อเสนอจากสภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นเวลาสองปี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ แต่ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งไม่คุ้มครองผู้ร้องเรียนในการคิดค่าบริการตามจริงจากกรณีของนายวัชรภัทร์ ไวทยกุล โดยมีมติให้บริษัทสามารถเก็บค่าบริการเพิ่ม และมีความพยายามทบทวนมติกทค.ในเรื่องนี้ ซึ่งอาจจะเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ต่อบริษัท โดยใช้แง่มุมกฎหมายว่า เป็นการพิจารณามติใหม่ ไม่ใช่การทบทวนมติของกทค.

         นางสาวชลดา บุญเกษม ให้ข้อมูลว่า บริษัททั้งสองเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ในประเทศไทย จากข้อมูลของสำนักงาน กสทช. ในไตรมาสที่ 4 ของปี ๒๕๕๗ ผู้ให้บริการทั้งสองรายมีผู้ใช้บริการทั้งประเทศรวมแล้วประมาณ ๖๔,๔๐๒,๕๐๐ เลขหมาย ดังนั้น การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของผู้ถูกกล่าวหา จึงทำให้ผู้บริโภคเสียหายจากการถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินความเป็นจริง มีมูลค่า ๒,๕๗๖.๑ ล้านบาท ต่อเดือน เป็นความเสียหายของผู้บริโภคจากสองบริษัทใน ๗ เดือนที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า ๑๘,๐๓๒.๗๐ ล้านบาท [1] หรือดังที่มีผู้ร้องเรียนบางรายต้องจ่ายเงินเพิ่มถึง 197.50 บาทต่อเดือน ทั้งๆที่ใช้แพ็คเกจราคาสูง ๘๙๙ บาท คิดเป็นมูลค่ามากกว่าร้อยละ ๒๑.๙๗ ของจำนวนเงินที่จ่ายในแต่ละเดือน

         “สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า หน่วยงานกำกับดูแลไม่ได้ให้ความสำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภคเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทั้งที่มีกฎหมายให้อำนาจที่จะทำได้ กลับไม่บังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ต้องมาร้องให้ ปปช.ตรวจสอบการกระทำของ กสทช. ในวันนี้” ชลดา กล่าว

         นางสาวบุญยืน  ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า  เรื่องนี้ กทค. มีคำสั่งออกมาชัดเจน ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ให้สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบการให้บริการบนคลื่นความถี่ 1800MHz และ 900 MHz ให้มีการคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย และมีหนังสือแจ้งผู้ประกอบการให้รับทราบแนวทางการตรวจสอบและปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด  แต่จากการติดตามอย่างต่อเนื่องของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค พบว่า ไม่มีผู้รับใบอนุญาตรายใดทำตามมติเลย ทั้งที่เป็นคำสั่งทางปกครอง ระยะเวลาตั้งแต่ กทค. มีมติ ก็ผ่านมามากกว่า 6 เดือนแล้ว จึงอาจเป็นกรณีเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยไม่ดำเนินการบังคับให้ผู้รับใบอนุญาตปฏิบัติตามกฎหมายของ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 1800MHz และประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 900MHz และเงื่อนไขการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800MHz และ 900MHz  รวมถึงมติที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 10/2559 ด้วย

         เนื่องจากตามกฎหมาย กำหนดให้ กสทช. เป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต  ความผิดดังกล่าวจึงอยู่ในอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความผิดทั้งหมดและลงโทษตามกฎหมายต่อไป


[1] ความเสียหายของผู้บริโภคแต่ละบุคคลที่ถูกคิดค่าบริการเกินจริง วันละ 1 ครั้ง เป็นมูลค่าประมาณ 1.33 บาทต่อวัน (อัตราเฉลี่ยค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของระบบเติมเงินและรายเดือน เฉลี่ยประมาณนาทีละ 1.33 บาท) ดังนั้นผู้บริโภคแต่ละรายต้องจ่ายค่าโทรศัพท์เพิ่มขึ้นประมาณ 40 บาทต่อเดือน