ประกันภัยทางโทรศัพท์ ยกเลิกอย่างไร

               

ด้วยความต้องการให้ธุรกิจประกันภัยขยายตัวได้รวดเร็ว จึงมีการอนุญาตให้มีการขายประกันภัยทางโทรศัพท์ได้ ความเสี่ยงจึงตามมาที่ผู้บริโภค เมื่อเผลอตกลงรับปากทางโทรศัพท์โดยไม่ตั้งใจไปแล้ว อยากจะเปลี่ยนใจยกเลิก มักถูกปฏิเสธ

“ไม่สามารถยกเลิกได้” ทำให้จำยอมต้องจ่ายค่าประกันไป ความจริงแล้ววิธีการบอกเลิกสัญญาประกันทำได้ไม่ยากตามนี้

1.หากไม่ต้องการทำประกันให้ขอวางสายทันที

2. หากตัวแทนประกันยังตื๊อ ไม่ยอมวางสาย ให้ขอชื่อ-นามสกุล เลขที่ใบอนุญาต และชื่อบริษัทประกัน เพื่อแจ้งต่อคณะกรรมการกํากับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

3. ก่อนวางสายผู้บริโภคมีสิทธิสอบถามตัวแทนประกันว่าได้รับข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริโภคมาได้อย่างไร ซึ่งตัวแทนประกันต้องตอบ

(ประกาศคณะกรรมการกํากับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย ผ่านทางโทรศัพท์ พ.ศ.2552 ข้อ 9.2)

กรณีเผลอตกลงทำสัญญาไปแล้วทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจแต่ต้องการบอกเลิกสัญญาขอเงินคืนในภาย หลัง
1. ถ้ายังไม่ได้รับกรมธรรม์ สามารถบอกเลิกได้ตลอดเวลา

2. ถ้าได้รับกรมธรรม์มาแล้ว สามารถขอยกเลิกกรมธรรม์ได้ภายใน 30  วัน นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์ (ประกาศคณะกรรมการกํากับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย ผ่านทางโทรศัพท์  พ.ศ.2552 ข้อ 9.4.5)

3. วิธีการบอกเลิกกรมธรรม์ที่ได้ผล  อย่าใช้ทางโทรศัพท์  ต้องทำเป็นจดหมายบอกเลิกสัญญาส่งเป็นไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ไม่ควรบอกเลิกทางโทรศัพท์ทางเดียว  เพราะส่วนใหญ่มักไม่ได้ผล (ดูแบบฟอร์มการบอกเลิกสัญญา) 

4. หากชำระเป็นเงินสดผู้บริโภคจะต้องได้รับเบี้ยประกันภัยคืนเต็มจำนวน ภายใน 30 วันนับจากวันที่บอกเลิก4. หากชำระเบี้ยประกันภัยด้วยบัตรเครดิตหรือหักเงินผ่านบัตรเครดิตไปแล้ว  ให้ทำจดหมายขอปฏิเสธการชำระหนี้ และขอเงินที่ได้ชำระไปแล้วคืน ไปยังบริษัทบัตรเครดิตหรือธนาคารเจ้าของบัตรเครดิต พร้อมแนบสำเนาจดหมายบอกเลิกสัญญากรมธรรม์ ส่งไปให้ด้วย  โดยส่งเป็นไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ    (ประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค  เรื่อง ให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา  พ.ศ. 2542 ข้อ 7 (ข))

5. ผู้บริโภคมีสิทธิร้องเรียน ตัวแทนหรือนายหน้าประกัน และบริษัทประกัน กับ คณะกรรมการกํากับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ให้เพิกถอนใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต หรือใบอนุญาตเป็น นายหน้าประกันชีวิต ตามมาตรา 81 แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551  (ประกาศคณะกรรมการกํากับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย ผ่านทางโทรศัพท์  พ.ศ.2552 ข้อ 6)


หากมีข้อสงสัยขอคำปรึกษาเพิ่มเติมได้ที่

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

4/2 ซอยวัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท ราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

โทรศัพท์ 02-248-3734-7 โทรสาร 02-2483733 วันทำการจันทร์-ศุกร์

 

 

 

 


 

เลขที่ 4/2 ซอยวัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400  
โทรศัพท์ 0-2248-3734-7 โทรสาร 0-2248-3733 | e-mail: indyconsumers@gmail.com  

  ::  อนุญาตให้นำข้อมูลและเนื้อหาบนเว็บไซต์ไปเผยแพร่ต่อเพื่อความรู้ของประชาชน ไม่อนุญาตให้นำไปใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าทุกกรณี ::